การตื่นเวที หรืออาการประหม่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งก่อนการแสดงของนักแสดงหลายๆ คน ความประหม่าเกิดขึ้นได้ไม่เพียงแค่นักแสดงที่จะต้องขึ้นเวทีเท่านั้น แม้แต่นักเรียนที่พรีเซ้นต์งานหน้าชั้นเรียน หรือการพูดต่อหน้าคนหมู่มากก็เช่นกัน อาการก็คือ มือสั่นและเย็น ใจสั่น เสียงสั่น เหงื่อออกมาก รู้สึกใจหวิว ๆ อาจเกิดจากความสามารถในการรับแรงกดดันได้ค่อนข้างน้อย ประสบการณ์ที่ไม่ดีในอดีตที่อาจส่งผลรวมไปถึงความมั่นใจด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถฝึกฝน และพัฒนาได้
การเตรียมความพร้อม
ในส่วนของการฝึกซ้อมการแสดง หรืออุปกรณ์ เครื่องแต่งกาย เนื้อหาที่ต้องการสื่อสาร แน่นอนว่านี่เป็น สิ่งแรก ที่เราจะต้องเตรียมการให้พร้อมเพื่อไม่ให้เกิดความกระวนกระวายใจ และลดความวุ่นวายหน้างานที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เพื่อให้ตัวเรานั้นสามารถ Concentrate การเตรียมตัวก่อนการขึ้นแสดงได้ดียิ่งขึ้น
กิจกรรมที่ช่วยให้ตนเองนั้นผ่อนคลาย
อีกสิ่งที่นักแสดงจำเป็นมีสมาธิ ให้ความสนใจกับเรื่องที่จะสื่อสาร ก่อนจะทำการแสดง การทำกิจกรรมที่ช่วยให้ตนเองนั้นผ่อนคลายจะช่วยให้มีสติ และควบคุมอารมณ์ได้มั่นคงมากยิ่งขึ้น
การฟังเพลง วิธีสุดคลาสสิคที่หลายๆ คนใช้ ซึ่งเสียงเพลง และเสียงดนตรี ทำให้จิตใจของเราจดจ่ออยู่กับเพลงนั้นๆ และผ่อนคลายมากขึ้น แต่มีข้อควรระวังในการเลือกเพลง หากเราเลือกเพลงที่มีเนื้อร้อง หรือเนื้อหาที่กระตุ้นความรู้สึกที่อ่อนไหว อาจเผลอทำให้เรามีความรู้สึกที่คล้อยตามเพลงนั้นๆ ได้
การกำหนดลมหายใจ เป็นอีกวิธีที่ทำได้โดยง่ายไม่ต้องใช้อุปกรณ์อะไรเลย เวลาที่เราตื่นเต้น และเริ่มประหม่า หัวใจของเราจะเริ่มมีจังหวะการเต้นที่เร็วขึ้น หายใจเข้าให้เต็มปอดและออกจนสุดลม อย่างช้าๆ เพื่อให้จิตใจ และร่างกายผ่อนคลาย
การดื่มน้ำและออกกำลังกาย ฟังดูเป็นเรื่องที่สุดแสนจะธรรมดา แต่มันคือเรื่องจริง การดื่มน้ำช่วยให้ร่างกายสดชื่น เพิ่มการไหลเวียนของโลหิต ปรับสมดุลในร่างกาย ลดอาการเครียดช่วยควบคุมอุณหภูมิในร่างกายให้คงที่ และกายออกกำลังกายนอกจากให้ร่างกายเราแข็งแรงแล้ว ยังช่วยให้เรามีแรงเพิ่มขึ้นและไม่เหนื่อยง่าย
เตือนตัวเอง และให้กำลังใจ อย่าลืมนึกถึงแต่สิ่งดีๆ ใช้จินตนาการคิดถึง แต่สถานการณ์ดีๆ แทนการคิดอะไรลบๆ ที่ประเดประดังเข้ามา
‘ จะทำได้ไหมนะ? ทำไม่ได้แน่เลย ’
‘ ออกไปแสดงคนดูจะชอบรึเปล่า? จะตลกหรือหัวเราะไหม ? ’
‘ ไม่เป็นไร เราซ้อมมาอย่างเต็มที่ ไม่ต้องกังวลไปนะตัวฉัน ’
‘ เราทำได้ ! เอาโว้ยยยย สู้สู้หน่อย ’
บางทีจะมีคำพวกนี้จะลอยอยู่ในหัวของเรา เราสามารถพูดออกเสียงออกมาเลยเพื่อดึงสติของเราเองก็ได้ หรืออาจจะตะโกนเสียงออกมาเพื่อปลดปล่อยความรู้สึกเครียด (คำนึงถึงพื้นที่ และบุคคลอื่นๆ ด้วยนะ จะได้ไม่เป็นการรบกวนบุคคลโดยรอบ) หรืออาจจะแค่พูดกับตัวเองในใจ หรือขอกำลังใจจากคนรอบข้าง พูดถึงสิ่งดีๆ ให้แก่กัน ก็ขึ้นกับว่าคุณถนัดวิธีไหน
การสื่อสารกับคนดู
ในหลายๆ ครั้งเมื่อเราเริ่มประหม่า จะทำให้เกิดความไม่มั่นใจไม่แน่ใจในสิ่งที่จะพูด ส่งผลให้คนดูเองก็ไม่ได้รับสารที่จะสื่ออย่างเต็มที่ หรือบางกรณีก็อาจจะฟังไม่รู้เรื่องเลย อาจเป็นเพราะเรานั้นหลุดโฟกัสจนหลงลืมความต้องการที่ต้องการสื่อ ณ ขณะนั้น เมื่อรู้ตัวการเตือนตัวเองให้กลับมาเป็นตัวละครที่อยู่ ณ ขณะนั้น ไม่ลืม ความต้องการ ของตัวละคร ณ ขณะนั้น และการใช้เต็มเสียงอย่างมั่นใจจะช่วยดึง Energy ของผู้แสดงขึ้นมาได้ การ โปรเจกต์เสียง ใช้น้ำเสียงหนักเบาตามธรรมชาติของตัวละคร ก็ช่วยให้คนดูสามารถเข้าใจถึงความรู้สึกหรือสารที่ต้องการสื่อของตัวละครที่เราแสดงนั้นได้ อีกสิ่งที่จะช่วยในการสื่อสารคือการ มีโฟกัส รวมถึงการใช้ร่างกายทรงตัวให้มั่นคง การรักษา ความสมดุล จะทำให้ผู้แสดงรู้สึกมั่นใจมากขึ้นและเปล่งเสียงออกมาได้อย่างชัดเจนและมีพลัง
เมื่อเราเข้าใจถึงความประหม่า ได้ฝึกซ้อม และลองใช้วิธีดังกล่าวแล้ว เราจงทำการแสดงออกมาอย่างเต็มที่ที่สุดที่เราจะทำได้ อย่างหนึ่งที่สำคัญคือการยอมรับว่าบางอย่างไม่สามารถอยู่เหนือการควบคุมของเรา การกำหนดทุกสิ่งอย่างให้เป็นไปได้อย่างใจของเรานั้น เราก็คงจะไม่ต่างจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ไม่ใช่มนุษย์
Written by Tigger Creative Media & Perfoming Arts Supervisor, OpenSchool
Edited by Lookpalm Integrated Marketing Communication